การดื่มอย่างรับผิดชอบที่บ้าน

การดื่มอย่างรับผิดชอบที่บ้าน,การดื่มอย่างรับผิดชอบที่บ้าน DRINK @ HOME RESPONSIBLY,การดื่มอย่างรับผิดชอบที่บ้าน DRINK @ HOME RESPONSIBLY

การดื่มอย่างรับผิดชอบที่บ้าน
DRINK @ HOME RESPONSIBLY

        สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในประเทศไทยเริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 โดยพบผู้ติดเชื้อครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2563
และมีแนวโน้มการแพร่กระจายที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการเพื่อป้องกันและลดโอกาสการแพร่เชื้อ โดยมุ่งเน้นการบังคับทางอ้อมให้ผู้คนอยู่ที่บ้าน (Stay at home) เพื่อให้เกิดการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ได้แก่ การลดการปฏิสัมพัทธ์ระหว่างผู้คนในสังคม การงดการชุมนุมของผู้คนเป็นจำนวนมากในแต่ละคราว
การลดการเดินทางออกจากที่พักอาศัยโดยไม่มีเหตุจำเป็น และการทำงานที่บ้าน (Work From Home) เป็นต้น

        สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย หรือ TABBA สนับสนุนมาตรการข้างต้นของภาครัฐและประสงค์ที่จะเห็นประชาชนให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด
ในขณะเดียวกัน ถ้าท่านเลือกที่จะดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตที่สมดุล โปรดดื่มในระดับที่เหมาะสมและอย่างรับผิดชอบที่บ้านของตน (Drink at Home Responsibly) เพราะการอยู่ที่บ้านเป็นการป้องกันและช่วยลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดและปลอดภัยที่สุด ทั้งต่อตัวเรา ครอบครัว ชุมชน และสังคม
ในสถานการณ์เช่นนี้

  เคล็ดลับการดื่มอย่างรับผิดชอบที่บ้าน


        1.  ดื่มอย่างพอดี ควรจดบันทึกการดื่มและปฏิบัติตามคำแนะนำของรัฐบาลเกี่ยวกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

        2.  แอลกอฮอล์ก็คือแอลกอฮอล์ ปัจจัยที่สำคัญคือปริมาณการดื่ม มิใช่ชนิดของเครื่องดื่ม โดยหนึ่งหน่วยมาตรฐานของเบียร์ ไวน์

            และสุรา เช่น วิสกี้ และว้อดก้า  เป็นต้น  มีปริมาณแอลกอฮอล์ เท่ากัน โปรดดูรายละเอียดการดื่มมาตรฐานตามมาตรฐานสากล     
           (Standard Drink) ตามที่ปรากฏข้างล่างนี้ 

                      วิสกี้ หรือ ว้อดก้า ที่มีระดับแอลกอฮอล์ 40% - 43%   = 3 ฝา (รวม 30 ml)

                      เบียร์ หรือ RTD ที่มีระดับแอลกอฮอล์ 5%    = 1 กระป๋อง หรือ ขวดเล็ก (250 ml)

                      ไวน์ ที่มีระดับแอลกอฮอล์ 11%-13%      = 1 แก้ว (100 ml)

        3. รับประทานอาหารและน้ำให้เพียงพอ ต้องไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในขณะท้องว่าง แต่พึงรับประทานอาหารรองท้องก่อนดื่มเสมอ
             เนื่องจากอาหารที่อยู่ในกระเพาะอาหาร จะช่วยชะลอการดูดซึมแอลกอฮอล์เข้าร่างกาย นอกจากนี้ ควรดื่มน้ำอย่างต่อเนื่อง
             ในระหว่างที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อป้องกันภาวะการขาดน้ำ

        4. วัดปริมาณการดื่ม รินเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยใช้ภาชนะตวง เช่น ถ้วย เหยือก หรือภาชนะอื่นที่มีอยู่ เพื่อวัดปริมาณการดื่ม
            ในแต่ละดื่มให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

        5.  เรียนรู้และทดลอง เรียนรู้เกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มอย่างรับผิดชอบ และการผสมค็อกเทลจากเพจและคอร์ส
              การเรียนรู้ที่นำเสนอทางออนไลน์

        6.  กำหนดวันงดดื่ม ควรงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และดื่มเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์แทน เช่น ม็อกเทล เป็นต้น
             เพราะการดื่มอย่างรับผิดชอบ อาจหมายถึงการละเว้นจากการดื่มนั่นเอง

        7.  ทำกิจกรรมในบ้านอย่างปลอดภัย โดยทำกิจกรรมอยู่ที่บ้านและอย่างมีระยะห่างทางสังคม
             เช่น การนัดสังสรรค์กับเพื่อนทางออนไลน์ เป็นต้น

ข้อเท็จจริง


แอลกอฮอล์ก็คือแอลกอฮอล์

        การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างพอเหมาะ หมายถึง การจำกัดปริมาณแอลกอฮอล์ ทั้งนี้ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ว่าจะถูกบริโภคในรูปแบบของเบียร์ ไวน์ หรือสุรากลั่น สิ่งที่สำคัญ คือ ปริมาณแอลกอฮอล์ที่อยู่ในเครื่องดื่มและปริมาณการบริโภค

การย่อยและดูดซึมแอลกอฮอล์โดยร่างกาย        
         - ตับมีหน้าที่ย่อยสลายแอลกอฮอล์เมื่อบริโภคเข้าสู่ร่างกาย ทั้งนี้ เอนไซม์แอลกอฮอล์ดีไฮโดรจีเนส (Alcohol Dehydrogenase: ADH)
            ทำหน้าที่ในการย่อยสลายดังกล่าว โดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงในการย่อยแอลกอฮอล์ขนาด 1 มาตรฐาน
            ซึ่งไม่มีวิธีอื่นใดที่จะเร่งการย่อยแอลกอฮอล์ของร่างกายได้เร็วกว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการดื่มกาแฟ  การนอนหลับ
            หรือการรับประทานอาหาร

          - ร่างกายของผู้หญิงย่อยสลายแอลกอฮอล์ได้ช้ากว่าผู้ชาย เพราะมีปริมาณเอนไซม์ ADH และปริมาณน้ำในร่างกายน้อยกว่าผู้ชาย

          - อาหารช่วยให้แอลกอฮอล์อยู่ในกระเพาะของคุณนานขึ้น จึงทำให้อัตราการดูดซึมแอลกอฮอล์เข้าสู่ร่างกายช้าลง
             และลดทอนเวลาก่อนไปถึงสมอง

          - สาเหตุของการเมาค้างส่วนใหญ่เกิดจากร่างกายขาดน้ำ เนื่องจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มากเกินไปในแต่ละคราว
             การดื่มเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ เช่น น้ำเปล่า ในระหว่างการดื่ม และการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างพอเหมาะ
             สามารถช่วยเลี่ยงอาการเมาค้างได้ การดื่มหนักนั้นอันตรายทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และอาจก่อให้เกิดภาวะสุราเป็นพิษ
             อาการโคม่า หรือถึงขั้นเสียชีวิตได้

การดื่มขณะตั้งครรภ์

        ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดภาวะกลุ่มอาการทารกในครรภ์ได้รับแอลกอฮอล์ (Fetal Alcohol Syndrome: FAS) นอกจากนี้ แอลกอฮอล์จะยังคงตกค้างในน้ำนมแม่ในช่วงเวลา 30 นาทีภายหลังจากดื่ม ซึ่งแต่ละการดื่มขนาดหนี่งมาตรฐาน ร่างกายจะใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมงในการย่อยสลาย จึงต้องแน่ใจว่าแอลกอฮอล์ถูกกำจัดออกจากร่างกายแล้วก่อนการให้นมบุตร

แอลกอฮอล์ผิดกฎหมาย

        แอลกอฮอล์ที่ถูกผลิตขึ้นอย่างผิดกฎหมายอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพร่างกาย และไม่ควรบริโภคโดยเด็ดขาด เนื่องจากแอลกอฮอล์ผิดกฎหมายเหล่านี้ มักผลิตขึ้นโดยใช้แอลกอฮอล์และสารเคมีที่ไม่สามารถรับประทานได้ และเป็นอันตรายต่อร่างกายหากบริโภคเข้าไปเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิต ได้แก่ เมทิลแอลกอฮอล์ หรือ เมทานอล (Methyl Alcohol or Methanol) สารเคมีแต่งกลิ่นและสี เป็นต้น


Download  PDF File >>>https://tabba.in.th/storage/file/pdf_laws/B1ZKzFgHEd.pdf