การประชุมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

การประชุมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์,กฏหมาย,เครื่องดื่มแอลกอฮอล์,การประชุมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

            เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2562 สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ขึ้น ณ  ห้องประชุมแซฟไฟร์ 204-205 อาคารอิมแพ็คฟอรั่ม ชั้น 2 เมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย โดยวัตถุประสงค์เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาประกอบในการพัฒนากฎหมายให้ทันสมัย และสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป จึงเปิดโอกาสให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่อกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 

            ในช่วงเช้า ภายหลัง นพ.ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ประธานในพิธี กล่าวเปิดการประชุม มีการดำเนินการอภิปรายในหัวข้อ “พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 จากอดีตถึงปัจจุบัน” โดยวิทยากร 4 ท่าน ประกอบด้วย นพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นางสาวจันทิมา สว่างกุล รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน ผศ.ดร.บุญอยู่ ขอพรประเสริฐ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเทศศาสตร์ และ ดร.ภญ.อรทัย วลีวงศ์ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ส่วนในช่วงบ่ายเป็นการรับฟังความคิดเห็นต่อพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 โดยสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเรื่องดื่มแอลกอฮอล์เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมแสดงความคิดเห็นต่อพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นรายมาตรา ตั้งแต่มาตราที่ 3 จนถึงมาตราที่ 45 

            อย่างไรก็ดี เป็นที่สังเกตเห็นได้ชัดเจนว่าการประชุมรับฟังความคิดเห็นที่จัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเรื่องดื่มแอลกอฮอล์ในครั้งนี้มีจำนวนผู้เข้าร่วมประชุมจำนวนค่อนข้างน้อย โดยผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่เป็นผู้แทนจากหน่วยงานและองค์กรภาครัฐ ในขณะที่บริษัทผู้ผลิตและผู้นำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมจำนวนน้อยมากเพียงประมาณร้อยละ 10 ของผู้ที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด ทั้งนี้มีผู้เกี่ยวข้องกับกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวจากภาคส่วนอื่นจำนวนมาก เช่น  ผู้ผลิต ผู้นำเข้า สถานประกอบการ ร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรม สมาคมการค้า รวมถึงสมาคมธุรกิจแอลกอฮอล์ไทย (TABBA) เป็นต้น ไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุม และ/หรือ ไม่ทราบว่ามีการประชุมเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม นายธนากร คุปตจิตต์ นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทยซึ่งได้ทราบข่าวการประชุมนี้จากสมาชิกของสมาคม ได้ขอเข้าร่วมประชุมในฐานะที่เป็นประชาชนและผู้ประกอบวิชาชีพทนายความ และนายธนากรได้แสดงความคิดเห็นและเสนอให้ที่ประชุมและสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พิจารณา ดังนี้ 

1.การประชุมรับฟังความคิดเห็นนี้ หากพิจารณาวาระการประชุมที่แนบมาในการเชิญประชุม พบว่าภายหลังจากการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเช้า ได้ระบุว่าจะทำการสรุปการรับฟังความคิดเห็นการประชุมในช่วงบ่าย ซึ่งจะไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 77 และพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่าง . กฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 เพราะจะขาดการวิเคราะห์และประเมินผลกระทบตามเจตนารณ์ของการรับฟังความคิดเห็น เนื่องจากจะทำการสรุปโดยทันทีในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน

2.ขอให้มีการจัดให้มีการประชุมการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ประกอบการ ร้านค้า สถานบริการ โรงแรม สมาคมการค้าที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ ที่ได้รับหรืออาจได้รับผลกระทบจากกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อเข้าร่วมการประชุมและแสดงความคิดเห็นต่อกฎหมายดังกล่าว เพื่อให้ได้ข้อมูลนำไปประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป 

3.ในการประชุมรับความคิดเห็นในครั้งนี้ผู้อภิปรายทั้ง 4 ท่าน ได้นำเสนอข้อมูลในรูปแบบของพรีเซนเทชั่น (presentation) แก่ผู้เข้าร่วมประชุม จึงขอให้นำข้อมูลและพรีเซนเทชั่นที่นำเสนอโดยผู้อภิปรายทั้ง 4 ท่านดังกล่าว เผยแพร่ในเว็บไซด์ของผู้จัดการประชุม ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องได้รับทราบด้วย 

4.ขอให้มีการจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นเช่นเดียวกันนี้อีก โดยเชิญผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมเพื่อการมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างแท้จริงและรอบด้าน อันจะเป็นประโยชน์ในการวิเคราะห์และประเมินผลข้อมูลที่จะนำไปพัฒนากฎหมายให้ทันสมัยและสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ตรงตามวัตถุประสงค์ของการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นกฎหมาย เป็นไปตามเจตนารมย์และบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 77 และพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 เพื่อให้เกิดความครบถ้วนในการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนโดยแท้จริง และเพื่อให้เกิดสมดุลของข้อมูลที่หน่วยงานของภาครัฐจะนำไปพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สามารถบังคับใช้และปฏิบัติตามได้จริง

            ในท้ายสุด ก่อนปิดการประชุมในช่วงเย็น ที่ประชุมมีมติให้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือประชาชนทั่วไปได้จนถึงวันที่ 27 ธันวาคม 2562 โดยให้ส่งความคิดเห็นและข้อเสนอแนะผ่านช่องทางอินเตอร์เน็ต (QR Code) หรืออีเมล์ หรือทางไปรษณีย์ หรือยื่นหนังสือด้วยตนเองที่สำนักงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

            สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทยยึดมั่นในพันธกิจที่ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินธุรกิจ และการสื่อสารทางการตลาดของผู้ประกอบธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เป็นไปตามหลักจรรยาบรรณ รับผิดชอบต่อสังคมและเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ให้ความรู้เกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และโทษภัยของการดื่มอย่างเป็นอันตราย (Harmful Use of Alcohol) แก่ผู้บริโภคและสาธารณะ พร้อมผลักดันให้เกิดวัฒนธรรมการดื่มแอลกอฮอล์อย่างรับผิดชอบเพื่อสนับสนุนเป้าหมายขององค์กรอนามัยโลก (World Health Organization:  WHO) ในการลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเป็นอันตรายลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ภายในปี พ.ศ. 2568 เช่น การเมาแล้วขับ การดื่มก่อนวัยอันควรและการดื่มมากเกินควร เป็นต้น โดยความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงผู้มีส่วนได้เสียจากทุกภาคส่วน 

            กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 จัดทำขึ้นภายใต้เจตนารมย์ที่ดี เพื่อช่วยลดปัญหาและผลกระทบทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ ช่วยสร้างเสริมสุขภาพของประชาชน ตลอดจนช่วยป้องกันเด็กและเยาวชนมิให้เข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้โดยง่าย หากแต่การบังคับใช้ยังขาดประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดปัญหาและผลกระทบในวงกว้าง รวมถึงการไม่สามารถปฏิบัติตามกฎหมายได้ เนื่องจากความไม่ชัดเจนของบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เช่น กฎหมายควบคุมฉลากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และกฎหมายควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น นำไปสู่การตีความที่แตกต่างกันระหว่างพนักงานเจ้าหน้าที่และผู้ประกอบการ การเลือกปฏิบัติและใช้ดุลยพินิจของเจ้าพนักงาน เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ เช่น ร้านอาหาร โรงแรม เป็นต้น และกระทบต่อสิทธิของผู้บริโภคในการได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างพอเพียงและเป็นธรรม

            สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เล็งเห็นความจำเป็นเร่งด่วนในการดำเนินการเพื่อแก้ไขและบรรเทาปัญหาและผลกระทบอันเนื่องมาจากกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ดังนี้ 

1) บังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดความจำเป็นในการออกกฎหมายเพื่อบังคับใช้เพิ่มเติม

2) ปรับปรุงกฎหมายให้มีความชัดเจนและสามารถปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง เช่น ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในฐานะที่ปรึกษากฎหมายแห่งรัฐพิจารณาตีความเกี่ยวกับการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามความในมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 เป็นต้น

            นอกจากนี้ เพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ภาครัฐพึงประเมินจากผลกระทบที่เกิดจากการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวเพื่อบรรลุเป้าหมายดังนี้


1. การมีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น ยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นล้าสมัยหรือไม่สอดคล้องกับสภาการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพ เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน
2. การพัฒนากฎหมายให้สอดคล้องกับหลักสากลและพันธกรณีระหว่างประเทศ
3. การลดความซ้ำซ้อนและขัดแย้งกันของกฎหมาย
4. การลดความเหลื่อล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคม
5. การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเท




............................................................................